ที่มาของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 270 ซึ่งกำหนดให้มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาความเป็นมาของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มแรกจัดตั้งอาจแบ่งพัฒนาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ การจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญภายหลังที่มีพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือการจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญถาวร
๑. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญชั่วคราว
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการตราพระราชบัญญัติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญโดยความเห็นชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑/๒๕๔๑ จัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เป็นหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งที่ ๒/๒๕๔๑ แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ และได้เปิดสำนักงานฯเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ สำนักงานฯตั้งอยู่ที่ ๔๙/๑ อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
๒. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญถาวร
พระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2542 กำหนดให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญมีฐานะเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และได้บูรณะปรับปรุงอาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เพื่อใช้เป็นที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารที่ทำการถาวร ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เป็นที่ทำการจนถึงปัจจุบัน